ในไตรปิฎกหรือพุทธวจนะ มีการสอนเรื่องการทำไงให้รวยไหม

ในไตรปิฎกหรือพุทธวจนะ มีการสอนเรื่องการทำไงให้รวยไหม

ตอบไม่ได้ไม่เป็นไร จขกดรู้คำตอบอยู่แล้ว

4 คำตอบ · +1 โหวต · 0 รายการโปรด · 60 อ่านแล้ว

ตามความคิดผมซึ่งมีโอกาสได้เป็นเด็กวัดชั่วระยะเวลานึง..

"ถ้าเรารวยปัญญาแล้ว..เราจะรู้เหตุผลที่ไม่ต้องการทรัพย์สินนอกกายนั้นอีกเลย"

+0 โหวต · 0 ตอบกลับ

เฉลย

หลักธรรมในพระพุทธศาสนา มิได้ปฏิเสธความร่ำรวยมั่งคั่ง แต่มีวิถีทางที่จะนำพาไปสู่ความร่ำรวยมั่งคั่งที่ยั่งยืนอย่างรอบด้าน รวมทั้งช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน (ทรัพย์) ให้ปลอดภัย ไม่ใช่เดี๋ยวจนเดี๋ยวรวยโดยฉับพลัน

ในความรู้สึก ของคนทั่ว ๆ ไปมักมีมุมมองและทัศนะในลักษณะที่ว่า พระพุทธศาสนามีคำสอนที่มุ่งเน้นในทางให้มนุษย์ลดละซึ่งกิเลส นำพาวิถีชีวิตมุ่งตรงสู่ทางสายกลาง (มัชฌิมาปฏิปทา) ซึ่งดูเสมือนหนึ่งว่า ไม่ให้ความสนใจในมิติมายาความมั่งคั่งด้านเงิน ๆ ทอง ๆ ของการดำเนินชีวิต แต่ในความเป็นจริงแล้ว “หลักธรรมในพระพุทธศาสนา มิได้ปฏิเสธความร่ำรวยมั่งคั่ง แต่มีวิธีที่นำพาไปสู่ความร่ำรวยมั่งคั่งที่ยั่งยืน เสริมสร้างภูมิคุ้มกันในตัวเอง ไม่ใช่เดี๋ยวจนเดี๋ยวรวยโดยฉับพลัน”

หลักธรรมสำคัญอีกประการ อันเป็นหลักที่นำพามาซึ่งความสุขในชีวิตปัจจุบัน ท่านกล่าวว่าคือ หลักทิฏฐธัมมิกัตถะ ๔ (ประโยชน์ในภพปัจจุบัน) ซึ่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงตรัสสอนแก่อุชชัยพราหมณ์ ในขณะที่ไปเข้าเฝ้า เพื่อกราบทูลขอให้พระองค์ทรงแสดงธรรมที่เป็นไปในลักษณะเพื่อประโยชน์สุขในปัจจุบันและหลักธรรมที่เป็นไปในลักษณะเพื่อประโยชน์สุขในภายภาคหน้าให้ฟังเนื่องจากตนจะย้ายไปอยู่ในต่างถิ่น พระพุทธองค์จึงทรงตรัสสอน ดังความปรากฏในพระไตรปิฎกตอนหนึ่งว่า

“ดูก่อนพราหมณ์ ธรรม ๔ ประการนี้ เป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขในปัจจุบัน กล่าวคือ อุฏฐานสัมปทา อารักขสัมปทา กัลยาณมิตตตา และสมชีวิตา

๑. อุฏฐานสัมปทา เป็นอย่างไร ? คือ กุลบุตรหาเลี้ยงชีพด้วยความขยันในการงาน...เธอเป็นผู้ขยันชำนิชำนาญ ไม่เกียจคร้านในงานนั้น ประกอบด้วย ปัญญาเครื่องสอบสวน ตรวจตรา รู้จักวิธีปฏิบัติในเรื่องนั้น ๆ สามารถทำ สามารถจัดการ นี้เรียกว่า อุฏฐานสัมปทา

๒. อารักขสัมปทา เป็นอย่างไร ? คือ กุลบุตรมีโภคทรัพย์มาก ที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียรแล้ว...เธอจัดการคุ้มครองโภคทรัพย์เหล่านั้นไว้โดยพิจารณาว่าทำอย่างไร พระราชาทั้งหลายจะไม่พึงบริโภคทรัพย์เหล่านั้นเสีย พวกโจรไม่พึงลักไปเสีย ไฟไม่พึงไหม้ไปเสีย น้ำไม่พึงพัดพาไปเสีย นี้เรียกว่า อารักขสัมปทา

๓. กัลยาณมิตตตา เป็นอย่างไร ? คือ กุลบุตรเข้าอาศัยอยู่ในหมู่บ้านหรือตำบลใดก็ตาม เธอเข้าสนิทสนมสนทนาปราศรัย ถกถ้อยปรึกษากับท่านที่เป็นคหบดีบ้าง บุตรคหบดีบ้าง พวกคนหนุ่มที่มีความประพฤติเป็นผู้ใหญ่บ้าง คนสูงอายุที่มีความประพฤติเป็นผู้ใหญ่บ้าง ผู้ประกอบการด้วยศรัทธา...ศีล...จาคะ... และ (ปัญญา) เธอศึกษาเยี่ยงอย่างความเพียบพร้อมด้วยศรัทธา...ศีล...จาคะ (และ) ปัญญาของเขา... นี้เรียกว่า กัลยาณมิตตตา

๔. สมชีวิตา เป็นอย่างไร ? คือ กุลบุตรเป็นผู้เลี้ยงชีวิตเหมาะสม ไม่ให้ฟุ่มเฟือยเกินไป ไม่ให้ฝืดเคืองเกินไป โดยรู้เข้าใจในทางเพิ่มพูนและทางเสื่อมถอยแห่งโภคทรัพย์ ว่าทำอย่างนี้รายได้ของเราจึงจะเหนือรายจ่าย และรายจ่ายของเราจึงจักไม่เหนือรายได้ เปรียบเหมือนคนช่างหรือลูกมือคนช่าง ยกตราชั่งขึ้นแล้วย่อมรู้ว่าหย่อนไปเท่านั้น หรือเกินไปเท่านี้ ถ้าหากกุลบุตรนี้มีรายได้น้อย แต่เลี้ยงชีวิตอยู่อย่างฟุ่มเฟือย ก็จะมีผู้กล่าวหาเอาได้ว่า กุลบุตรผู้นี้ใช้สมบัติเหมือนกินมะเดื่อ ถ้ากุลบุตรนี้มีรายได้มาก แต่เลี้ยงชีวิตอย่างฝืดเคือง ก็จะมีผู้กล่าวหาได้ว่า กุลบุตรผู้นี้คงจะตายอย่างคนอนาถา แต่ด้วยเหตุที่กุลบุตรเลี้ยงชีวิตเหมาะสม... จึงเรียกว่า สมชีวิตา

ดูก่อนพราหมณ์ โภคะที่เกิดขึ้นโดยชอบอย่างนี้แล้ว ย่อมมีช่องทางเสื่อม (อบายมุข) ๔ ประการ คือ เป็นนักเลงเที่ยวผู้หญิง เป็นนักเลงดื่มสุรา เป็นนักเลงเล่นการพนัน และคบคนชั่วเป็นมิตร ...”

ต่อจากนั้นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ก็ทรงได้ตรัส ประโยชน์ที่ควรบำเพ็ญเพื่อผลในภพหน้าที่เรียกว่า “สัมปรายิกัตถะ” ๔ ประการ อันได้แก่ สัทธาสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยศรัทธา) สีลสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยศีล) จาคะสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยความเสียสละ) และปัญญาสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยปัญญา) แก่พราหมณ์

จากพุทธพจน์ดังกล่าวนั้น หลักธรรมของพระพุทธศาสนาย่อมทำให้เข้าใจแจ่มแจ้งในเรื่องที่เป็นไปในลักษณะของประโยชน์สุขในปัจจุบัน ที่มีแง่มุมทางลึกซึ้งทางเศรษฐศาสตร์มีมิติที่ครอบคลุมการดำเนินชีวิตทั้งการอยู่ การกิน รวมถึงความสัมพันธ์ทางกิจกรรมของเศรษฐกิจในทุก ๆ เรื่องเลยทีเดียว นำพามาซึ่งความมั่นคงและสมบูรณ์ ซึ่งหลักธรรมที่นำพาสู่ความ “ร่ำรวยและมั่งคั่ง” อย่างยั่งยืนนั้นโบราณท่านเรียกว่า “หลักธรรมหัวใจเศรษฐี (อุ อา ก ส)” โดยที่มีสาระสำคัญโดยสรุป ๔ ประการ กล่าวคือ

ประการที่หนึ่ง : ขยันหา (อุฏฐานสัมปทา) หมายถึง ความขยันหมั่นเพียร เสาะแสวงหาหนทาง วิธีการในการทำมาหากิน รวมถึงกินลึกลงไปในเรื่องของความมีศีลธรรมและคุณธรรมนำทางความขยันนั้น เป็นไปในลักษณะของความขยันใน “สัมมาอาชีพ” เป็นอาชีพที่ถูกต้องตามครรลองคลองธรรม หากเป็นความขยันที่ผิดเพี้ยนจากครรลองคลองธรรมนำไปสู่การประกอบอาชีพที่ไม่สุจริตแล้วนั้น ไม่ใช่ความหมายของคำว่าขยันตามหลักธรรมหัวใจเศรษฐี เกี่ยวเนื่องจาก หากประกอบอาชีพที่ไม่สุจริตแล้วล้วนแต่นำพามาซึ่งความเดือดร้อนในอนาคต เปรียบเสมือนเป็นการไปเบียดเบียนเอาทรัพย์สินของบุคคลอื่นมาเป็นของตัวเอง ถึงแม้ว่าหากในปัจจุบันกฎหมายนั้นยังไม่สามารถที่จะเอาผิดได้ แต่ตัวเราก็รู้อยู่แก่ใจตัวเองว่า ทรัพย์สินดังกล่าวที่หามาได้นั้นไม่ถูกต้องตามครรลองคลองธรรม ก็เกิดความทุกข์ใจในความกลัวว่าสักวันหนึ่งจะถูกจับได้และได้รับผลกรรมนั้น ดังเช่นกรณีที่เราคงจะเคยได้ยินหรือเห็นตามข่าวสารทั่วไปที่มีแก๊งค์ต้มตุ๋นไปหลอกลวงชาวบ้านในรูปแบบต่าง ๆทั้ง แชร์ลูกโซ่ การตกทอง หลอกขายล็อตเตอรี่ เป็นต้น ซึ่งการกระทำดังกล่าวนั้นถือเป็นความขยันในช่องทางและวิธีการที่ผิด ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ท้ายที่สุดก็นำพาให้ชีวิตของตัวเองเดือดร้อน (ติดคุก) จากการกระทำดังกล่าว

ความขยันมีความสำคัญกับทุกสาขาอาชีพในฐานะที่เป็นพื้นฐานของการนำพาความสำเร็จมาสู่ชีวิต แม้แต่นักกีฬาฟุตบอลที่ฮอตฮิตชื่อดังอย่างเดวิด เบ็กแฮม (อดีตกัปตันทีมชาติอังกฤษ) เมื่อครั้งยังค้าแข้งอยู่กับสโมสรแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดของศึกพรีเมียร์ลีกแห่งอังกฤษ เคยให้สัมภาษณ์เอาไว้ในทำนองที่ว่า การที่เขาประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักและยอมรับในอาชีพจนได้รับฉายาว่า “มิดฟิลด์เท้าชั่งทอง” รวมทั้งเป็นจอมปั่นฟรีคิกระดับแนวหน้าของโลกนั้นเป็นเพราะว่า ในเวลาฝึกซ้อมเขาจะทุ่มเทและจริงจังกับทุกรายละเอียดรวมทั้งเต็มที่และสนุกกับมันแต่ที่สำคัญก็คือ เขามีความขยันเหนือคนอื่น เมื่อโค้ชสั่งให้เลิกซ้อมแล้วแต่เขากลับใช้เวลาต่อจากนั้นอีกกว่าชั่วโมงในการซ้อมปั่นฟรีคิกและการเปิดบอลให้แม่นยำเป็นประจำทุกวัน! แม้ว่าเขาจะมีพรสวรรค์ในด้านทักษะด้อยไปกว่าซีเนอดีน ซีดาน โรนัลโด้ (โล้นทองคำ) หรือลีโอเนล เมสซี่ ซึ่งนักฟุตบอลเหล่านี้ถือว่ามีพรสวรรค์ที่สูงส่งในเชิงลูกหนัง แต่ว่าเบ็กแฮมก็มีพรแสวงที่เยี่ยมยอดในด้านของความขยันนั้นมาทดแทน จนได้รับผลตอบแทนนำพามาซึ่งฉายาดังกล่าวและสร้างความสำเร็จทั้งทางด้านชื่อเสียงและเงินทองให้กับเขา

หากกล่าวถึงเรื่องความขยันแล้ว คนทั่วไปโดยส่วนใหญ่จะนึกถึงคนจีนซึ่งถือได้ว่าเป็นเสมือนสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายทางการค้าเลยก็ว่าได้ ตระกูลเจ้าสัวใหญ่ ๆ ในเมืองไทยล้วนแล้วแต่มีเชื้อสายชาวจีนเกือบทั้งนั้น ที่สำคัญหลาย ๆ ท่านกว่าจะมาถึงวันนี้ล้วนแล้วแต่มีชีวิตในวัยเยาว์ที่เต็มไปด้วยขวากหนามและอุปสรรคยากลำบากมากมายหลายเท่านักอันเป็นผลมาจากภาวะบังคับบีบคั้นทางด้านความยากจนข้นแค้น ทำให้ต้องเริ่มต้นชีวิตด้วยสองมือเปล่าหรือที่มีคำกล่าวที่เข้าใจโดยทั่วไปว่าสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาได้จาก “เสื่อผืนหมอนใบ” จนกระทั่งนำพาไปสู่เส้นทางของเจ้าสัวที่ประสบความสำเร็จในอาชีพการงาน ซึ่งหลาย ๆ ท่านที่ประสบความสำเร็จต่างบอกในทำนองที่ว่าเป็นเพราะพวกท่าน มีความขยัน อดทน มุ่งมั่นและบากบั่น เป็นฐานพื้นจึงยืนหยัดต่อสู่และฟันฝ่าไม่กลัวต่ออุปสรรคและความยากลำบากเหล่านั้นจึงทำให้พวกท่านมีวันนี้

ความขยันที่มีในบางอย่างแม้บางครั้งยังไม่ให้ผลทางด้านเงินทองแต่ก็ต้องฝึกฝนเอาไว้ให้เคยชินเป็นนิสัย อย่างเช่น การเป็นนักเรียนนักศึกษาถึงแม้ว่าการขยันทำหน้าที่ดังกล่าวไม่ทำให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินเงินทองโดยตรง แต่ก็ถือได้ว่าเป็นรากฐานที่สำคัญของการทำให้ก้าวไปสู่อาชีพการงานที่ดีในอนาคต ดังนั้นไม่ว่าจะมีอาชีพอะไรทั้ง ค้าขาย เจ้าของธุรกิจ ลูกจ้าง นักกีฬา นักแสดง นักร้อง นักดนตรี หากว่ามีความขยันที่ถูกต้องถูกทางก็มีโอกาสก้าวไปสู่ประตูแห่งความสำเร็จที่เปิดรอรับตลอดเวลาได้ในไม่ช้า

“ขยันหาในหลักธรรมของหัวใจเศรษฐี จึงมีมิติที่กินลึกลงไปในช่องทางและวิธีการที่ถูกต้องตามครรลองคลองธรรมเป็น สัมมาอาชีพ ที่ไม่ก้าวล้ำนำไปสู่การเบียดเบียนทั้งตัวเองและคนอื่นให้เดือดร้อน”

ประการที่สอง : รักษาดี (อารักขสัมปทา) หมายถึง การเก็บรักษาทรัพย์สินเป็นการต่อยอดมาจากเงินทองที่เราขยันหามาจากสัมมาอาชีพที่สุจริตนั้น กินลึกลงไปในการบริหารจัดการทรัพย์สินดังกล่าวให้งอกเงยออกดอกออกผลตามมาด้วย เป็นไปในลักษณะของการเก็บรักษาและใช้ไปในทางที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

- การเก็บ เป็นการเก็บออมทรัพย์สิน เงินทอง เพื่อเป็นหลักประกันให้กับอนาคตในภายภาคหน้า หากว่าเกิดวิกฤติขึ้นในวิถีของการดำเนินชีวิตก็จะส่งผลกระทบไม่มากนัก สามารถประคับประคองเอาตัวรอดไปได้อย่างสบาย ๆ การเก็บออมเปรียบเสมือน การสร้างภูมิคุ้มกันในการดำเนินชีวิตในระยะยาว เช่น ขยันหามาได้ ๑๐๐ บาท ก็ใช้ไป ๗๐ บาท ที่เหลือก็เก็บออมสะสมไว้อีก ๓๐ บาท เป็นต้น ทำอย่างนี้เรื่อยไป ทรัพย์สินก็จะเพิ่มขึ้นในอนาคต ไม่ใช่หามาได้เท่าไรก็ใช้ไปจนหมดหรือก้าวกระโดดไปหยิบยืมเอาเงินในอนาคต (หนี้รูปแบบต่าง ๆ ) มาใช้ก่อนในปัจจุบัน ลักษณะเช่นนี้ถือว่าเป็นการสร้างนิสัยการใช้จ่ายที่ไม่ดี

- การใช้ไปของทรัพย์สิน เป็นการบริหารจัดการต่อยอดในส่วนของเงินเก็บเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในการนำไปสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งการบริหารจัดการดังกล่าวก็จักต้องรอบคอบและมีสติ อย่าพึงบริหารจัดการด้วย “กิเลสหรือความโลภ” เป็นตัวตั้ง เกี่ยวเนื่องจากสาเหตุที่สำคัญในท้ายที่สุดของการหมดเนื้อหมดตัวก็มาจากการวิ่งไล่กวดความโลภของตัวเองนั่นเอง ดังที่เราจะเห็นตามข่าวสารบ่อย ๆ ทั้งการถูกแก๊งค์ต้มตุ๋นหลอกเอาเงินไปโดยอ้างว่าจะนำไปลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่มากมายมหาศาล ซึ่งกลุ่มมิจฉาชีพพวกนี้รู้ดีว่าต่อมความโลภของมนุษย์ถูกกระตุ้นได้ง่าย ดังนั้นจึงควรบริหารจัดการการลงทุนโดยใช้สติและความรู้ที่เท่าทันให้อยู่เหนือกิเลสหรือไม่ให้ถูกความโลภครอบงำ

หลักธรรม “อารักขสัมปทา (รักษาดี)” ในข้อนี้มีจุดมุ่งหมายสอนให้ประหยัดมัธยัสถ์รู้จักเก็บออมรวมความถึงรู้จักบริหารการใช้จ่าย ซึ่งนัยก็เปรียบเสมือนเป็นการดูแลรักษาคุ้มครองโภคทรัพย์ที่หามาได้ด้วยสัมมาอาชีพไม่ให้หมดไปในทางที่เสื่อมเสียและเป็นอันตรายต่อตนเองและผู้อื่นหรือให้รู้จักในคุณค่าของทรัพย์สินที่หามาได้โดยรู้จักเก็บและใช้ไปในทางที่เป็นประโยชน์ต่อตนและบุคคลอื่นอยู่ในที

“รักษาดีในหลักธรรมของหัวใจเศรษฐี จึงมีมิติที่ต่อยอดมาจากการขยันหาที่เมื่อได้ทรัพย์มาแล้วควรเก็บรักษาไม่ใช้สิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินให้กับอนาคตที่มีความไม่แน่นอนรออยู่ กินลึกลงไปถึงการใช้ไปในทรัพย์สินที่หามาได้ไปในทางที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการบริหารจัดการที่ใช้สติและปัญญานำทาง ก่อนที่จะลงทุนในอะไร ควรที่จะศึกษาข้อมูลให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ แจ่มแจ้ง เสาะแสวงหาข้อมูลให้มากที่สุดเพื่อนำมาเข้าสู่กระบวนการกลั่นกรองด้วยปัญญานำพาไปสู่การลงทุนที่มั่นคงและมีประโยชน์สูงสุด ไม่ใช่ลงทุนด้วยแรงขับ แรงบีบคั้นและบังคับจากความโลภ”

ประการที่สาม : ผูกไมตรีกับกัลยาณมิตร (กัลยาณมิตตตา) หมายถึงการรู้จัก “คบคนดี มีความเป็นเพื่อนแท้” ความเป็นเพื่อนแท้จริงนั้นย่อมนำพามิตรไปในเส้นทางที่ดี ๆ จะพึงสังเกตได้ว่าหลักธรรมในข้อนี้ต่อยอดมาจากการขยันหาและรักษาดี เกี่ยวเนื่องจาก มนุษย์เป็นสัตว์สังคมต้องมีการปฏิสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้าง ดังนั้น หากว่าเรามีกัลยาณมิตรแล้ว ความเจริญก้าวหน้าก็เกิดขึ้น เช่น

- ในการขยันหา หากว่าเราขยันหาทรัพย์สินเงินทองมาด้วยความถูกต้องประกอบสัมมาอาชีพ แต่บังเอิญไปคบกับเพื่อนที่ประกอบอาชีพที่ไม่สุจริตก็จะมีโอกาสนำพาให้ชีวิตของเราเข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือพัวพันกับอาชีพที่ไม่สุจริตนั้นไม่มากก็น้อย แต่ถ้าหากว่า เรามีเพื่อนดี (กัลยาณมิตร) ก็จะนำพาไปสู่เส้นทางของการขยันหาทรัพย์สินที่ประเสริฐยิ่ง ๆ ขึ้นไป ไม่นำพาความเดือดร้อนให้

- ในการรักษาทรัพย์สินนั้น หากว่าเราคบเพื่อนที่ไม่ดี ก็จะมีแต่คำแนะนำไปในแนวทางที่ไม่ดี เช่น ชวนไปเล่นการพนัน ชวนไปลงทุนในธุรกิจที่ผิดกฎหมาย เกี่ยวเนื่องจากคนที่ไม่ดีเหล่านี้มีกิเลสหรือความโลภครอบงำนำทางในการดำเนินชีวิต แต่ถ้าหากว่าเรามีเพื่อนที่ดี (กัลยาณมิตร) ก็จะนำพาไปในทางที่ดี คอยตักเตือนเรา เช่น หากว่ามีคนมาชวนไปลงทุนในธุรกิจที่ผิดกฎหมายหรือมาหลอกลวงต้มตุ๋น กัลยาณมิตรก็จะคอยให้คำปรึกษาที่เป็นประโยชน์และคอยตักเตือนเราช่วยกันหาข้อมูลเพื่อนำมาวิเคราะห์ ไม่ให้หลงไปติดกับดักหรือเป็นเหยื่อพวกมิจฉาชีพโดยง่าย

ในวิถีชีวิตของสังคมเศรษฐกิจที่มนุษย์ถือเป็นสัตว์สังคมที่ต้องเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้นั้น สิ่งสำคัญอีกประการในการดำเนินชีวิตก็คือการเลือกคบมิตร ซึ่งถือได้ว่าเป็นเป็นองค์ประกอบสำคัญตามหลัก “มงคลชีวิต ๓๘ ประการ” อันเป็นหลักคำสอนในพระพุทธศาสนาที่ว่าด้วยมงคลแรกคือ “ไม่คบคนพาล” และต่อด้วยมงคลประการที่สองคือต้องรู้จัก “คบบัณฑิต” เป็นที่น่าพึงสังเกตว่าหลักธรรมมงคลชีวิตในพระพุทธศาสนาที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ยกเอามาวางเป็นหลักปฏิบัติในลำดับที่ ๑ และ ๒ นั้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับคน บ่งชี้ให้เห็นว่าปัญหาที่สำคัญของการดำเนินชีวิตตามหลักพระพุทธศาสนานั้นสิ่งสำคัญและต้องคำนึงถึงในเบื้องแรกคือเรื่องคน ดังคงเคยเคยได้ยินได้ฟังมาบ่อย ๆ ในทำนองที่ว่า “คนนี้เสียคนเพราะคบเพื่อนไม่ดี ส่วนคนนี้ได้ดีเพราะมีเพื่อนที่ดีคอยแนะนำและช่วยเหลือเกื้อกูลไม่ให้เดินทางผิด”

“ผูกไมตรีกับกัลยาณมิตรในหลักธรรมของหัวใจเศรษฐี จึงมีมิติที่ต่อยอดและสอดคล้องเกี่ยวเนื่องกับขยันหาและรักษาทรัพย์สินเอาไว้ ซึ่งถ้าหากว่าเรามีกัลยาณมิตรที่คอยให้คำปรึกษาและแนะนำแล้วทรัพย์สินที่เราหามาได้รวมทั้งเก็บรักษาและใช้ไปนั้นก็จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด”

ประการที่สี่ : ดำรงชีวิตแบบพอเพียง (สมชีวิตา) หมายถึง การรู้จักคุณค่าของทรัพย์สินเงินทอง ที่หามาได้ใช้จ่ายให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย รวมถึงกินลึกลงไปใน ความพอประมาณ ความสมเหตุสมผล ความสมดุล และสร้างภูมิคุ้มกันให้กับชีวิต เกี่ยวเนื่องจาก ความพอเพียง มีลักษณะอกาลิโก (ไม่เลือกกาลไม่เลือกสมัย) คือ สามารถใช้ได้ทุกเวลาและทุกสถานที่ เพราะเป็นหลักแห่งความเป็นจริงเสมอ “ความพอเพียง” มีคุณลักษณะ ที่สำคัญคือ

ประการแรก ความพอประมาณ คือ เป็นความพอดีที่ไม่มากเกินไปและไม่น้อยเกินไป หรือ ไม่สุดโต่งทั้งสองด้านไม่ว่าจะเป็นมิติทางสังคม มิติทางการเมือง และมิติทางเศรษฐกิจ และที่สำคัญในความพอดีที่มีอยู่หรือได้มานั้นต้องไม่เบียดเบียนตนเองและไม่ก้าวข้ามไปเบียดเบียนคนอื่น เป็นความพอดีที่ตั้งอยู่บนหลักของศีลธรรมและคุณธรรมเป็นสำคัญ

ประการที่สอง ความสมเหตุสมผล ประกอบไปด้วย

- ความสมเหตุสมผลในการจัดลำดับความสำคัญ เป็นการจัดลำดับความสำคัญในการตัดสินของทุกมิติทั้งเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ในประเด็นที่มองถึงความสมเหตุสมผลทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม โดยมีผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้ง

- ความสมเหตุสมผลในกระบวนการดำเนินการ เป็นการคำนึงถึงความเหมาะสมของวิธีการและขั้นตอนของการดำเนินการต้องโปร่งใส ไม่เอื้อผลประโยชน์ให้กับกลุ่มตนเองและพวกพ้อง ที่สำคัญต้องยึดหลักธรรมาภิบาล

- ความสมเหตุสมผลในด้านผลกระทบหรือต้นทุนทางสังคม เป็นการคำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อสังคมโดยรวม ตลอดจนสิ่งแวดล้อม โดยยึดหลักของความสมดุลและดุลยภาพโดยรวมของมนุษย์กับมนุษย์และมนุษย์กับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นที่ตั้ง

ประการที่สาม ความสมดุลของความสัมพันธ์ในมิติด้านต่าง ๆ คือ เป็นความสมดุลทางหลักความคิด ความสมดุลทางหลักการพูด ความสมดุลทางหลักการปฏิบัติ รวมถึงความสมดุลในมิติอื่น ๆ ซึ่งเมื่อความพอเพียงเป็นการไม่ไปเบียดเบียนตัวเองและคนอื่น รวมทั้งการไม่ไปเบียดเบียนธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วยแล้ว ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันและความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในลักษณะดังกล่าวเป็นความสัมพันธ์ในเชิงอุดหนุน ส่งเสริม เกื้อกูลซึ่งกันและกัน เป็นการดำเนินความสัมพันธ์ที่แสวงหาประโยชน์ส่วนรวม ไม่แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นเป้าหมายหลัก เพื่อนำไปสู่จุดสมดุลทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง แทนการนำไปสู่จุดวิกฤติ

ประการที่สี่ การสร้างภูมิคุ้มกัน คือ ความสามารถในการรองรับหรือรับมือกับสภาวการณ์ ความผันผวน และการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ได้เป็นอย่างดี เนื่องจาก ความพอเพียง ทำให้เกิดความสมดุลระหว่างมนุษย์กับมนุษย์และระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น จึงได้รับผลกระทบไม่มาก และสามารถกลับสู่จุดสมดุลและดุลยภาพใหม่ได้อย่างรวดเร็ว

การดำรงชีพแบบพอเพียงในทางพระพุทธศาสนามุ่งเน้นสอนให้เข้าถึงและเข้าใจในทางที่เจริญและทางเสื่อมไปในโภคทรัพย์ (โลกียทรัพย์) อย่างรู้เท่าทัน โดยมุ่งเน้นให้เดินตามหลักทางสายกลางที่ไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยสุรุ่ยสุร่ายแต่ก็มิได้ให้ถึงกับฝืดเคือง (ตระหนี่) มากนัก ซึ่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนให้รู้จักจัดสรรในทรัพย์ที่ได้มานั้นโดยการแบ่งออกเป็น ๔ ส่วน ซึ่งเรียกว่า “โภควิภาค ๔” ที่ประกอบไปด้วย

- เก็บไว้ใช้เลี้ยงตนและเลี้ยงคนที่ควรบำรุงเลี้ยงได้แก่ มารดา บิดา ภรรยา บุตรรวมถึงคนในปกครอง มิตรสหาย และใช้จ่ายทำประโยชน์หรือทำบุญ เป็นต้น (๑ส่วน)

- เก็บไว้ใช้ในการเป็นทุนประกอบอาชีพหน้าที่การงานเพื่อทำให้เกิดประโยชน์ที่งอกเงยเพิ่มขึ้นจากการใช้ไปในทรัพย์สินนั้น เมื่อมองในแง่ปัจจุบันซึ่งก็คือการลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น ลงทุนในธุรกิจ ลงทุนในพันธบัตร เป็นต้น (๒ ส่วน)

- เก็บไว้ใช้ในคราวจำเป็นเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้น เช่น เจ็บป่วย อุบัติเหตุ เป็นต้น (๑ ส่วน)

การดำรงชีพแบบพอเพียงตามแนวทางพระพุทธศาสนาสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับทุกคน ทุกองค์กรและทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เพราะเป็นหลักปฏิบัติที่สอดคล้องกับการทำประโยชน์ให้ถึงพร้อมในปัจจุบันด้วยความพอประมาณ สมเหตุสมผล สมดุล และเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเอง

“การดำรงชีวิตแบบพอเพียง เป็นวิถีการดำเนินชีวิตที่มุ่งเน้นความพอประมาณทำอะไรไม่เกินตัว กินพอดี อยู่พอดี ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นรวมทั้งไม่ก้าวล้ำไปเบียดเบียนธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ใช้หลักความสมเหตุสมผลในการจัดลำดับความสำคัญ วิธีการ รวมทั้งคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในมิติด้านต่าง ๆ ของการดำเนินชีวิต และเป็นการสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นทุกภาคส่วนของกิจกรรมทางสังคม รวมทั้งสามารถสร้างภูมิคุ้มกันเมื่อเผชิญกับวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเมือง สังคม เศรษฐกิจ รวมทั้งธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม”

ความพอเพียงหากจะแยกย่อยลงลึกไปในการทำมาหากินของการดำเนินชีวิตแล้วสามารถมองได้ใน ๒ มิติ คือ

- มิติพอเพียงอย่างวัตถุวิสัย เป็นลักษณะของความพอเพียงภายนอก คือ มีกินมีใช้ มีปัจจัยสี่เพียงพอ หรือที่คนส่วนใหญ่เข้าใจในความหมายที่ว่า พอสมควรตามอัตภาพ

- มิติพอเพียงอย่างจิตวิสัย เป็นลักษณะของความพอเพียงภายใน คือ เป็นความพอเพียงในด้านความรู้สึก ซึ่งแต่ละคนมีไม่เท่ากัน บางคนมีเงินไม่มากก็ถือว่าเพียงพอแล้วสำหรับเขา แต่ในขณะที่บางคนมีทรัพย์สินเงินทองมากมายแต่ก็ยังไม่เพียงพอสำหรับเขา

สิ่งสำคัญที่สุด ก็คือ เราต้องรู้จักบริหารจัดการระหว่างความพอเพียงอย่างวัตถุวิสัยและความพอเพียงอย่างจิตวิสัยให้เกิดดุลยภาพซึ่งกันและกัน เช่น สมมติ ว่าเรามีเงินเป็นร้อยล้านแล้วซื้อบ้านหลังละสิบล้าน ซื้อรถคันละห้าล้าน การกระทำเช่นนี้ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่ผิดตราบใดที่การได้มาและการใช้ไปของเงินเรานั้นไม่ได้ไปเดือดร้อนเบียดเบียนคนอื่นและไม่ทำให้เกิดทุกข์จากผลของการกระทำ ถือว่าเป็นการบริหารจัดการความพอเพียงอย่างจิตวิสัยและวัตถุวิสัยให้เกิดความสมดุล แต่ขณะเดียวกัน สมมติ เรามีเงินหนึ่งล้านแล้วทำแบบคนที่มีเงินเป็นร้อยล้าน สิ่งนี้เป็นการกระทำที่ไม่ดีเพราะทำให้เราเป็นทุกข์ (มีหนี้) ถือว่าเป็นการบริหารจัดการความพอเพียงอย่างจิตวิสัยและวัตถุวิสัยที่ไม่มีดุลยภาพ ดังนั้นถ้าไม่ทำให้เกิดทุกข์เราอาจจะซื้อบ้านหรือรถในราคาที่เหมาะกับรายได้และความจำเป็นกับตัวเองในลำดับแรกก่อน นี่เป็นเสมือนการใช้ปัญญาในการบริโภคนั่นเอง

..... อ่านต่อได้ที่: https://www.gotoknow.org/posts/468573

+0 โหวต · 0 ตอบกลับ

ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ เป็นหลักธรรมในพุทธศาสนา คือ ประโยชน์ในปัจจุบัน 4 อย่าง บ้างเรียกว่า หัวใจเศรษฐี "อุ อา กะ สะ" อาจเรียกสั้น ๆ ว่า ทิฏฐธัมมิกัตถะ (เนื่องจากอัตถะ แปลว่า ประโยชน์อยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องมีประโยชน์ ซ้ำซ้อนกันสองคำก็ได้) หรืออาจเรียกเต็ม ๆ ว่า ทิฏฐธัมมิกัตถสังวัตตนิกธรรม 4 หมายถึง ธรรมที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ในปัจจุบัน หลักธรรมอันอำนวยประโยชน์สุขขั้นต้น เพื่อประโยชน์สุขสามัญที่มองเห็นกันในชาตินี้ ที่คนทั่วไปปรารถนา มี ทรัพย์ ยศ เกียรติ ไมตรี เป็นต้น อันจะสำเร็จด้วยธรรม 4 ประการ คือ

อุฏฐานสัมปทา ถึงพร้อมด้วยความหมั่น เช่นขยันหมั่นเพียร เลี้ยงชีพด้วยการหมั่นประกอบการงาน เป็นผู้ขยันไม่เกียจคร้านในการงานนั้น ประกอบด้วยปัญญาเครื่องสอดส่อง อันเป็นอุบายในการงานนั้น ให้สามารถทำได้สำเร็จ

อารักขสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการรักษาโภคทรัพย์ (ที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร โดยชอบธรรม) เขารักษาคุ้มครองโภคทรัพย์เหล่านั้นไว้ได้พร้อมมูล ไม่ให้ถูกลัก หรือทำลายไปโดยภัยต่างๆ

กัลยาณมิตตตา คบคนดี ไม่คบคบชั่ว อยู่อาศัยในบ้านหรือนิคมใด ย่อมดำรงตน เจรจา สนทนากับบุคคลในบ้านหรือนิคมนั้น ซึ่งเป็นผู้มีสมาจารบริสุทธิ์ ผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา

สมชีวิตา อยู่อย่างพอเพียง รู้ทางเจริญทรัพย์และทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์ แล้วเลี้ยงชีพพอเหมาะ ไม่ให้สุรุ่ยสุร่ายฟูมฟายนัก ไม่ให้ฝืดเคืองนัก ด้วยคิดว่า รายได้ของเราจักต้องเหนือรายจ่าย และรายจ่ายของเราจักต้องไม่เหนือรายได้

+0 โหวต · 0 ตอบกลับ

สุ จิ ปุ ริ

อิทธิบาทสี่

๑. ฉันทะ ความพอใจรักใคร่ในสิ่งนั้น

๒. วิริยะ ความพากเพียรในสิ่งนั้น

๓. จิตตะ ความเอาใจใส่ฝักใฝ่ในสิ่งนั้น

๔. วิมังสา ความหมั่นสอดส่องในเหตุผลของสิ่งนั้น

+0 โหวต · 0 ตอบกลับ

คำตอบของคุณ

(ไม่บังคับ)

เพื่อรับการแจ้งเตือนเมื่อมีการตอบกลับ

คำถามที่คุณอาจจะสนใจ