(อ้างอิง) https://40plus.posttoday.com/dhamma/12031/
ความหวังดีเป็นเครื่องมือหนึ่งของคำว่ามิตรภาพ แต่เรามักไม่รู้ว่าเราควรใช้ความหวังดีเมื่อไหร่และอย่างไร จึงทำให้ความหวังดีแปรเปลี่ยนเป็นความรำคาญ แล้วเราจะทำอย่างไรให้ความหวังดีของเราแสดงถึงความหวังดีอย่างซาบซึ้งใจ
1.ความหวังดีจะดีก็ต่อเมื่อมีความต้องการ
หากผู้รับไม่ได้คิดว่าตัวเองมีปัญหา ความหวังดีของเราก็คือ ส่วนเกินของชีวิตเขา ก่อนที่เอ่ยปากเตือนใคร ก่อนที่มอบสิ่งของให้ใครด้วยความหวังดี ดูเสียก่อนว่าเป็นสิ่งที่เขาร้องขอหรือมีความต้องการสิ่งนั้นหรือไม่ ถ้าเขายังมีความสุขอยู่กับสิ่งที่เป็นความหวังดีของเราก็ไม่ใช่สิ่งจำเป็น
2.ความหวังดีต้องให้ถูกคน
เรามีน้ำใจเป็นสิ่งที่ดีแต่ไม่ใช่ทุกคนที่รับน้ำใจจากเราไปแล้วจะเกิดความยินดี และรู้สึกดีกับเรา วิธีดูคนที่เราควรให้ความหวังดีอย่างแรกคือ ควรเป็นบุคลิกลักษณะเป็นผู้ที่ชอบรับฟังมากกว่าพูด พวกเขาจะมีความคิดที่มากกว่าคนที่ชอบพูด เขาจะรับฟังความแนะนำจากเรา เมื่อเราให้สิ่งใดไปเขาจะรับและคิดก่อนว่าเอาไปใช้อะไรได้บ้างหรือลองทำตามดูสักครั้ง
3.ความหวังดีต้องถูกเวลา
เมื่อถึงเวลาที่เขากำลังเริ่มมีความทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งและเรารู้สึกได้ นั่นคือ ช่วงเวลาที่ความหวังดีต้องเริ่มทำงานในทันที หากปล่อยเวลาให้ผ่านไปจนเขาแก้ไขปัญหาของตัวเองได้แล้ว ความหวังดีของเราก็ไม่จำเป็นอีกต่อไป หากคุณฝืนให้คำแนะนำก็จะกลายเป็นการดูแคลนความช่วยเหลือของคนอื่นก่อนหน้า หรือดูถูกการตัดสินใจของเขา
4.ความหวังดีถ้าไม่รับต้องให้แค่ครั้งเดียว
ความหวังดีของคนเรามีค่าทั้งสิ้น หากเราแนะนำใครไปแล้วเขาไม่ทำตาม และยังคงมีปัญหาซ้ำ ต้องปล่อยไป ความถนัดของคนเราไม่เหมือนกัน แนวทางของเราอาจะไม่ใช่ของเขา ถ้าคุณฝืนให้คำแนะนำไปอีกก็มีแต่สูญเปล่า ถ้าเขาเห็นดีด้วยก็คงทำเสียแต่แรกหรือเปลี่ยนมาใช้แนวทางของเราเองหากพบผิดพลาดซ้ำสอง
เรื่องความหวังดี แม้เป็นสิ่งที่ดีแต่เราก็ควรรู้จักที่จะให้ อย่างถูกคน ถูกที่ และถูกเวลา