ธรรมข้อ ทิฏฐธัมมิกัตถะ ๔ (ประโยชน์ในภพปัจจุบัน) เหมาะสมกับอยากรวยหรือคนที่รวยอยู่แล้ว

หลักธรรมในพระพุทธศาสนา มิได้ปฏิเสธความร่ำรวยมั่งคั่ง แต่มีวิถีทางที่จะนำพาไปสู่ความร่ำรวยมั่งคั่งที่ยั่งยืนอย่างรอบด้าน รวมทั้งช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน (ทรัพย์) ให้ปลอดภัย ไม่ใช่เดี๋ยวจนเดี๋ยวรวยโดยฉับพลัน

ในความรู้สึก ของคนทั่ว ๆ ไปมักมีมุมมองและทัศนะในลักษณะที่ว่า พระพุทธศาสนามีคำสอนที่มุ่งเน้นในทางให้มนุษย์ลดละซึ่งกิเลส นำพาวิถีชีวิตมุ่งตรงสู่ทางสายกลาง (มัชฌิมาปฏิปทา) ซึ่งดูเสมือนหนึ่งว่า ไม่ให้ความสนใจในมิติมายาความมั่งคั่งด้านเงิน ๆ ทอง ๆ ของการดำเนินชีวิต แต่ในความเป็นจริงแล้ว “หลักธรรมในพระพุทธศาสนา มิได้ปฏิเสธความร่ำรวยมั่งคั่ง แต่มีวิธีที่นำพาไปสู่ความร่ำรวยมั่งคั่งที่ยั่งยืน เสริมสร้างภูมิคุ้มกันในตัวเอง ไม่ใช่เดี๋ยวจนเดี๋ยวรวยโดยฉับพลัน”

หลักธรรมสำคัญอีกประการ อันเป็นหลักที่นำพามาซึ่งความสุขในชีวิตปัจจุบัน ท่านกล่าวว่าคือ หลักทิฏฐธัมมิกัตถะ ๔ (ประโยชน์ในภพปัจจุบัน) ซึ่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงตรัสสอนแก่อุชชัยพราหมณ์ ในขณะที่ไปเข้าเฝ้า เพื่อกราบทูลขอให้พระองค์ทรงแสดงธรรมที่เป็นไปในลักษณะเพื่อประโยชน์สุขในปัจจุบันและหลักธรรมที่เป็นไปในลักษณะเพื่อประโยชน์สุขในภายภาคหน้าให้ฟังเนื่องจากตนจะย้ายไปอยู่ในต่างถิ่น พระพุทธองค์จึงทรงตรัสสอน ดังความปรากฏในพระไตรปิฎกตอนหนึ่งว่า

“ดูก่อนพราหมณ์ ธรรม ๔ ประการนี้ เป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขในปัจจุบัน กล่าวคือ อุฏฐานสัมปทา อารักขสัมปทา กัลยาณมิตตตา และสมชีวิตา

๑. อุฏฐานสัมปทา เป็นอย่างไร ? คือ กุลบุตรหาเลี้ยงชีพด้วยความขยันในการงาน...เธอเป็นผู้ขยันชำนิชำนาญ ไม่เกียจคร้านในงานนั้น ประกอบด้วย ปัญญาเครื่องสอบสวน ตรวจตรา รู้จักวิธีปฏิบัติในเรื่องนั้น ๆ สามารถทำ สามารถจัดการ นี้เรียกว่า อุฏฐานสัมปทา

๒. อารักขสัมปทา เป็นอย่างไร ? คือ กุลบุตรมีโภคทรัพย์มาก ที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียรแล้ว...เธอจัดการคุ้มครองโภคทรัพย์เหล่านั้นไว้โดยพิจารณาว่าทำอย่างไร พระราชาทั้งหลายจะไม่พึงบริโภคทรัพย์เหล่านั้นเสีย พวกโจรไม่พึงลักไปเสีย ไฟไม่พึงไหม้ไปเสีย น้ำไม่พึงพัดพาไปเสีย นี้เรียกว่า อารักขสัมปทา

๓. กัลยาณมิตตตา เป็นอย่างไร ? คือ กุลบุตรเข้าอาศัยอยู่ในหมู่บ้านหรือตำบลใดก็ตาม เธอเข้าสนิทสนมสนทนาปราศรัย ถกถ้อยปรึกษากับท่านที่เป็นคหบดีบ้าง บุตรคหบดีบ้าง พวกคนหนุ่มที่มีความประพฤติเป็นผู้ใหญ่บ้าง คนสูงอายุที่มีความประพฤติเป็นผู้ใหญ่บ้าง ผู้ประกอบการด้วยศรัทธา...ศีล...จาคะ... และ (ปัญญา) เธอศึกษาเยี่ยงอย่างความเพียบพร้อมด้วยศรัทธา...ศีล...จาคะ (และ) ปัญญาของเขา... นี้เรียกว่า กัลยาณมิตตตา

๔. สมชีวิตา เป็นอย่างไร ? คือ กุลบุตรเป็นผู้เลี้ยงชีวิตเหมาะสม ไม่ให้ฟุ่มเฟือยเกินไป ไม่ให้ฝืดเคืองเกินไป โดยรู้เข้าใจในทางเพิ่มพูนและทางเสื่อมถอยแห่งโภคทรัพย์ ว่าทำอย่างนี้รายได้ของเราจึงจะเหนือรายจ่าย และรายจ่ายของเราจึงจักไม่เหนือรายได้ เปรียบเหมือนคนช่างหรือลูกมือคนช่าง ยกตราชั่งขึ้นแล้วย่อมรู้ว่าหย่อนไปเท่านั้น หรือเกินไปเท่านี้ ถ้าหากกุลบุตรนี้มีรายได้น้อย แต่เลี้ยงชีวิตอยู่อย่างฟุ่มเฟือย ก็จะมีผู้กล่าวหาเอาได้ว่า กุลบุตรผู้นี้ใช้สมบัติเหมือนกินมะเดื่อ ถ้ากุลบุตรนี้มีรายได้มาก แต่เลี้ยงชีวิตอย่างฝืดเคือง ก็จะมีผู้กล่าวหาได้ว่า กุลบุตรผู้นี้คงจะตายอย่างคนอนาถา แต่ด้วยเหตุที่กุลบุตรเลี้ยงชีวิตเหมาะสม... จึงเรียกว่า สมชีวิตา

ดูก่อนพราหมณ์ โภคะที่เกิดขึ้นโดยชอบอย่างนี้แล้ว ย่อมมีช่องทางเสื่อม (อบายมุข) ๔ ประการ คือ เป็นนักเลงเที่ยวผู้หญิง เป็นนักเลงดื่มสุรา เป็นนักเลงเล่นการพนัน และคบคนชั่วเป็นมิตร ...”

ต่อจากนั้นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ก็ทรงได้ตรัส ประโยชน์ที่ควรบำเพ็ญเพื่อผลในภพหน้าที่เรียกว่า “สัมปรายิกัตถะ” ๔ ประการ อันได้แก่ สัทธาสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยศรัทธา) สีลสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยศีล) จาคะสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยความเสียสละ) และปัญญาสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยปัญญา) แก่พราหมณ์

จากพุทธพจน์ดังกล่าวนั้น หลักธรรมของพระพุทธศาสนาย่อมทำให้เข้าใจแจ่มแจ้งในเรื่องที่เป็นไปในลักษณะของประโยชน์สุขในปัจจุบัน ที่มีแง่มุมทางลึกซึ้งทางเศรษฐศาสตร์มีมิติที่ครอบคลุมการดำเนินชีวิตทั้งการอยู่ การกิน รวมถึงความสัมพันธ์ทางกิจกรรมของเศรษฐกิจในทุก ๆ เรื่องเลยทีเดียว นำพามาซึ่งความมั่นคงและสมบูรณ์ ซึ่งหลักธรรมที่นำพาสู่ความ “ร่ำรวยและมั่งคั่ง” อย่างยั่งยืนนั้นโบราณท่านเรียกว่า “หลักธรรมหัวใจเศรษฐี (อุ อา ก ส)” โดยที่มีสาระสำคัญโดยสรุป ๔ ประการ กล่าวคือ

ประการที่หนึ่ง : ขยันหา (อุฏฐานสัมปทา) หมายถึง ความขยันหมั่นเพียร เสาะแสวงหาหนทาง วิธีการในการทำมาหากิน รวมถึงกินลึกลงไปในเรื่องของความมีศีลธรรมและคุณธรรมนำทางความขยันนั้น เป็นไปในลักษณะของความขยันใน “สัมมาอาชีพ” เป็นอาชีพที่ถูกต้องตามครรลองคลองธรรม หากเป็นความขยันที่ผิดเพี้ยนจากครรลองคลองธรรมนำไปสู่การประกอบอาชีพที่ไม่สุจริตแล้วนั้น ไม่ใช่ความหมายของคำว่าขยันตามหลักธรรมหัวใจเศรษฐี เกี่ยวเนื่องจาก หากประกอบอาชีพที่ไม่สุจริตแล้วล้วนแต่นำพามาซึ่งความเดือดร้อนในอนาคต เปรียบเสมือนเป็นการไปเบียดเบียนเอาทรัพย์สินของบุคคลอื่นมาเป็นของตัวเอง ถึงแม้ว่าหากในปัจจุบันกฎหมายนั้นยังไม่สามารถที่จะเอาผิดได้ แต่ตัวเราก็รู้อยู่แก่ใจตัวเองว่า ทรัพย์สินดังกล่าวที่หามาได้นั้นไม่ถูกต้องตามครรลองคลองธรรม ก็เกิดความทุกข์ใจในความกลัวว่าสักวันหนึ่งจะถูกจับได้และได้รับผลกรรมนั้น ดังเช่นกรณีที่เราคงจะเคยได้ยินหรือเห็นตามข่าวสารทั่วไปที่มีแก๊งค์ต้มตุ๋นไปหลอกลวงชาวบ้านในรูปแบบต่าง ๆทั้ง แชร์ลูกโซ่ การตกทอง หลอกขายล็อตเตอรี่ เป็นต้น ซึ่งการกระทำดังกล่าวนั้นถือเป็นความขยันในช่องทางและวิธีการที่ผิด ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ท้ายที่สุดก็นำพาให้ชีวิตของตัวเองเดือดร้อน (ติดคุก) จากการกระทำดังกล่าว

ความขยันมีความสำคัญกับทุกสาขาอาชีพในฐานะที่เป็นพื้นฐานของการนำพาความสำเร็จมาสู่ชีวิต แม้แต่นักกีฬาฟุตบอลที่ฮอตฮิตชื่อดังอย่างเดวิด เบ็กแฮม (อดีตกัปตันทีมชาติอังกฤษ) เมื่อครั้งยังค้าแข้งอยู่กับสโมสรแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดของศึกพรีเมียร์ลีกแห่งอังกฤษ เคยให้สัมภาษณ์เอาไว้ในทำนองที่ว่า การที่เขาประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักและยอมรับในอาชีพจนได้รับฉายาว่า “มิดฟิลด์เท้าชั่งทอง” รวมทั้งเป็นจอมปั่นฟรีคิกระดับแนวหน้าของโลกนั้นเป็นเพราะว่า ในเวลาฝึกซ้อมเขาจะทุ่มเทและจริงจังกับทุกรายละเอียดรวมทั้งเต็มที่และสนุกกับมันแต่ที่สำคัญก็คือ เขามีความขยันเหนือคนอื่น เมื่อโค้ชสั่งให้เลิกซ้อมแล้วแต่เขากลับใช้เวลาต่อจากนั้นอีกกว่าชั่วโมงในการซ้อมปั่นฟรีคิกและการเปิดบอลให้แม่นยำเป็นประจำทุกวัน! แม้ว่าเขาจะมีพรสวรรค์ในด้านทักษะด้อยไปกว่าซีเนอดีน ซีดาน โรนัลโด้ (โล้นทองคำ) หรือลีโอเนล เมสซี่ ซึ่งนักฟุตบอลเหล่านี้ถือว่ามีพรสวรรค์ที่สูงส่งในเชิงลูกหนัง แต่ว่าเบ็กแฮมก็มีพรแสวงที่เยี่ยมยอดในด้านของความขยันนั้นมาทดแทน จนได้รับผลตอบแทนนำพามาซึ่งฉายาดังกล่าวและสร้างความสำเร็จทั้งทางด้านชื่อเสียงและเงินทองให้กับเขา

หากกล่าวถึงเรื่องความขยันแล้ว คนทั่วไปโดยส่วนใหญ่จะนึกถึงคนจีนซึ่งถือได้ว่าเป็นเสมือนสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายทางการค้าเลยก็ว่าได้ ตระกูลเจ้าสัวใหญ่ ๆ ในเมืองไทยล้วนแล้วแต่มีเชื้อสายชาวจีนเกือบทั้งนั้น ที่สำคัญหลาย ๆ ท่านกว่าจะมาถึงวันนี้ล้วนแล้วแต่มีชีวิตในวัยเยาว์ที่เต็มไปด้วยขวากหนามและอุปสรรคยากลำบากมากมายหลายเท่านักอันเป็นผลมาจากภาวะบังคับบีบคั้นทางด้านความยากจนข้นแค้น ทำให้ต้องเริ่มต้นชีวิตด้วยสองมือเปล่าหรือที่มีคำกล่าวที่เข้าใจโดยทั่วไปว่าสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาได้จาก “เสื่อผืนหมอนใบ” จนกระทั่งนำพาไปสู่เส้นทางของเจ้าสัวที่ประสบความสำเร็จในอาชีพการงาน ซึ่งหลาย ๆ ท่านที่ประสบความสำเร็จต่างบอกในทำนองที่ว่าเป็นเพราะพวกท่าน มีความขยัน อดทน มุ่งมั่นและบากบั่น เป็นฐานพื้นจึงยืนหยัดต่อสู่และฟันฝ่าไม่กลัวต่ออุปสรรคและความยากลำบากเหล่านั้นจึงทำให้พวกท่านมีวันนี้

ความขยันที่มีในบางอย่างแม้บางครั้งยังไม่ให้ผลทางด้านเงินทองแต่ก็ต้องฝึกฝนเอาไว้ให้เคยชินเป็นนิสัย อย่างเช่น การเป็นนักเรียนนักศึกษาถึงแม้ว่าการขยันทำหน้าที่ดังกล่าวไม่ทำให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินเงินทองโดยตรง แต่ก็ถือได้ว่าเป็นรากฐานที่สำคัญของการทำให้ก้าวไปสู่อาชีพการงานที่ดีในอนาคต ดังนั้นไม่ว่าจะมีอาชีพอะไรทั้ง ค้าขาย เจ้าของธุรกิจ ลูกจ้าง นักกีฬา นักแสดง นักร้อง นักดนตรี หากว่ามีความขยันที่ถูกต้องถูกทางก็มีโอกาสก้าวไปสู่ประตูแห่งความสำเร็จที่เปิดรอรับตลอดเวลาได้ในไม่ช้า

“ขยันหาในหลักธรรมของหัวใจเศรษฐี จึงมีมิติที่กินลึกลงไปในช่องทางและวิธีการที่ถูกต้องตามครรลองคลองธรรมเป็น สัมมาอาชีพ ที่ไม่ก้าวล้ำนำไปสู่การเบียดเบียนทั้งตัวเองและคนอื่นให้เดือดร้อน”

ประการที่สอง : รักษาดี (อารักขสัมปทา) หมายถึง การเก็บรักษาทรัพย์สินเป็นการต่อยอดมาจากเงินทองที่เราขยันหามาจากสัมมาอาชีพที่สุจริตนั้น กินลึกลงไปในการบริหารจัดการทรัพย์สินดังกล่าวให้งอกเงยออกดอกออกผลตามมาด้วย เป็นไปในลักษณะของการเก็บรักษาและใช้ไปในทางที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

- การเก็บ เป็นการเก็บออมทรัพย์สิน เงินทอง เพื่อเป็นหลักประกันให้กับอนาคตในภายภาคหน้า หากว่าเกิดวิกฤติขึ้นในวิถีของการดำเนินชีวิตก็จะส่งผลกระทบไม่มากนัก สามารถประคับประคองเอาตัวรอดไปได้อย่างสบาย ๆ การเก็บออมเปรียบเสมือน การสร้างภูมิคุ้มกันในการดำเนินชีวิตในระยะยาว เช่น ขยันหามาได้ ๑๐๐ บาท ก็ใช้ไป ๗๐ บาท ที่เหลือก็เก็บออมสะสมไว้อีก ๓๐ บาท เป็นต้น ทำอย่างนี้เรื่อยไป ทรัพย์สินก็จะเพิ่มขึ้นในอนาคต ไม่ใช่หามาได้เท่าไรก็ใช้ไปจนหมดหรือก้าวกระโดดไปหยิบยืมเอาเงินในอนาคต (หนี้รูปแบบต่าง ๆ ) มาใช้ก่อนในปัจจุบัน ลักษณะเช่นนี้ถือว่าเป็นการสร้างนิสัยการใช้จ่ายที่ไม่ดี

- การใช้ไปของทรัพย์สิน เป็นการบริหารจัดการต่อยอดในส่วนของเงินเก็บเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในการนำไปสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งการบริหารจัดการดังกล่าวก็จักต้องรอบคอบและมีสติ อย่าพึงบริหารจัดการด้วย “กิเลสหรือความโลภ” เป็นตัวตั้ง เกี่ยวเนื่องจากสาเหตุที่สำคัญในท้ายที่สุดของการหมดเนื้อหมดตัวก็มาจากการวิ่งไล่กวดความโลภของตัวเองนั่นเอง ดังที่เราจะเห็นตามข่าวสารบ่อย ๆ ทั้งการถูกแก๊งค์ต้มตุ๋นหลอกเอาเงินไปโดยอ้างว่าจะนำไปลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่มากมายมหาศาล ซึ่งกลุ่มมิจฉาชีพพวกนี้รู้ดีว่าต่อมความโลภของมนุษย์ถูกกระตุ้นได้ง่าย ดังนั้นจึงควรบริหารจัดการการลงทุนโดยใช้สติและความรู้ที่เท่าทันให้อยู่เหนือกิเลสหรือไม่ให้ถูกความโลภครอบงำ

หลักธรรม “อารักขสัมปทา (รักษาดี)” ในข้อนี้มีจุดมุ่งหมายสอนให้ประหยัดมัธยัสถ์รู้จักเก็บออมรวมความถึงรู้จักบริหารการใช้จ่าย ซึ่งนัยก็เปรียบเสมือนเป็นการดูแลรักษาคุ้มครองโภคทรัพย์ที่หามาได้ด้วยสัมมาอาชีพไม่ให้หมดไปในทางที่เสื่อมเสียและเป็นอันตรายต่อตนเองและผู้อื่นหรือให้รู้จักในคุณค่าของทรัพย์สินที่หามาได้โดยรู้จักเก็บและใช้ไปในทางที่เป็นประโยชน์ต่อตนและบุคคลอื่นอยู่ในที

“รักษาดีในหลักธรรมของหัวใจเศรษฐี จึงมีมิติที่ต่อยอดมาจากการขยันหาที่เมื่อได้ทรัพย์มาแล้วควรเก็บรักษาไม่ใช้สิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินให้กับอนาคตที่มีความไม่แน่นอนรออยู่ กินลึกลงไปถึงการใช้ไปในทรัพย์สินที่หามาได้ไปในทางที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการบริหารจัดการที่ใช้สติและปัญญานำทาง ก่อนที่จะลงทุนในอะไร ควรที่จะศึกษาข้อมูลให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ แจ่มแจ้ง เสาะแสวงหาข้อมูลให้มากที่สุดเพื่อนำมาเข้าสู่กระบวนการกลั่นกรองด้วยปัญญานำพาไปสู่การลงทุนที่มั่นคงและมีประโยชน์สูงสุด ไม่ใช่ลงทุนด้วยแรงขับ แรงบีบคั้นและบังคับจากความโลภ”

ประการที่สาม : ผูกไมตรีกับกัลยาณมิตร (กัลยาณมิตตตา) หมายถึงการรู้จัก “คบคนดี มีความเป็นเพื่อนแท้” ความเป็นเพื่อนแท้จริงนั้นย่อมนำพามิตรไปในเส้นทางที่ดี ๆ จะพึงสังเกตได้ว่าหลักธรรมในข้อนี้ต่อยอดมาจากการขยันหาและรักษาดี เกี่ยวเนื่องจาก มนุษย์เป็นสัตว์สังคมต้องมีการปฏิสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้าง ดังนั้น หากว่าเรามีกัลยาณมิตรแล้ว ความเจริญก้าวหน้าก็เกิดขึ้น เช่น

- ในการขยันหา หากว่าเราขยันหาทรัพย์สินเงินทองมาด้วยความถูกต้องประกอบสัมมาอาชีพ แต่บังเอิญไปคบกับเพื่อนที่ประกอบอาชีพที่ไม่สุจริตก็จะมีโอกาสนำพาให้ชีวิตของเราเข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือพัวพันกับอาชีพที่ไม่สุจริตนั้นไม่มากก็น้อย แต่ถ้าหากว่า เรามีเพื่อนดี (กัลยาณมิตร) ก็จะนำพาไปสู่เส้นทางของการขยันหาทรัพย์สินที่ประเสริฐยิ่ง ๆ ขึ้นไป ไม่นำพาความเดือดร้อนให้

- ในการรักษาทรัพย์สินนั้น หากว่าเราคบเพื่อนที่ไม่ดี ก็จะมีแต่คำแนะนำไปในแนวทางที่ไม่ดี เช่น ชวนไปเล่นการพนัน ชวนไปลงทุนในธุรกิจที่ผิดกฎหมาย เกี่ยวเนื่องจากคนที่ไม่ดีเหล่านี้มีกิเลสหรือความโลภครอบงำนำทางในการดำเนินชีวิต แต่ถ้าหากว่าเรามีเพื่อนที่ดี (กัลยาณมิตร) ก็จะนำพาไปในทางที่ดี คอยตักเตือนเรา เช่น หากว่ามีคนมาชวนไปลงทุนในธุรกิจที่ผิดกฎหมายหรือมาหลอกลวงต้มตุ๋น กัลยาณมิตรก็จะคอยให้คำปรึกษาที่เป็นประโยชน์และคอยตักเตือนเราช่วยกันหาข้อมูลเพื่อนำมาวิเคราะห์ ไม่ให้หลงไปติดกับดักหรือเป็นเหยื่อพวกมิจฉาชีพโดยง่าย

ในวิถีชีวิตของสังคมเศรษฐกิจที่มนุษย์ถือเป็นสัตว์สังคมที่ต้องเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้นั้น สิ่งสำคัญอีกประการในการดำเนินชีวิตก็คือการเลือกคบมิตร ซึ่งถือได้ว่าเป็นเป็นองค์ประกอบสำคัญตามหลัก “มงคลชีวิต ๓๘ ประการ” อันเป็นหลักคำสอนในพระพุทธศาสนาที่ว่าด้วยมงคลแรกคือ “ไม่คบคนพาล” และต่อด้วยมงคลประการที่สองคือต้องรู้จัก “คบบัณฑิต” เป็นที่น่าพึงสังเกตว่าหลักธรรมมงคลชีวิตในพระพุทธศาสนาที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ยกเอามาวางเป็นหลักปฏิบัติในลำดับที่ ๑ และ ๒ นั้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับคน บ่งชี้ให้เห็นว่าปัญหาที่สำคัญของการดำเนินชีวิตตามหลักพระพุทธศาสนานั้นสิ่งสำคัญและต้องคำนึงถึงในเบื้องแรกคือเรื่องคน ดังคงเคยเคยได้ยินได้ฟังมาบ่อย ๆ ในทำนองที่ว่า “คนนี้เสียคนเพราะคบเพื่อนไม่ดี ส่วนคนนี้ได้ดีเพราะมีเพื่อนที่ดีคอยแนะนำและช่วยเหลือเกื้อกูลไม่ให้เดินทางผิด”

“ผูกไมตรีกับกัลยาณมิตรในหลักธรรมของหัวใจเศรษฐี จึงมีมิติที่ต่อยอดและสอดคล้องเกี่ยวเนื่องกับขยันหาและรักษาทรัพย์สินเอาไว้ ซึ่งถ้าหากว่าเรามีกัลยาณมิตรที่คอยให้คำปรึกษาและแนะนำแล้วทรัพย์สินที่เราหามาได้รวมทั้งเก็บรักษาและใช้ไปนั้นก็จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด”

ประการที่สี่ : ดำรงชีวิตแบบพอเพียง (สมชีวิตา) หมายถึง การรู้จักคุณค่าของทรัพย์สินเงินทอง ที่หามาได้ใช้จ่ายให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย รวมถึงกินลึกลงไปใน ความพอประมาณ ความสมเหตุสมผล ความสมดุล และสร้างภูมิคุ้มกันให้กับชีวิต เกี่ยวเนื่องจาก ความพอเพียง มีลักษณะอกาลิโก (ไม่เลือกกาลไม่เลือกสมัย) คือ สามารถใช้ได้ทุกเวลาและทุกสถานที่ เพราะเป็นหลักแห่งความเป็นจริงเสมอ “ความพอเพียง” มีคุณลักษณะ ที่สำคัญคือ

ประการแรก ความพอประมาณ คือ เป็นความพอดีที่ไม่มากเกินไปและไม่น้อยเกินไป หรือ ไม่สุดโต่งทั้งสองด้านไม่ว่าจะเป็นมิติทางสังคม มิติทางการเมือง และมิติทางเศรษฐกิจ และที่สำคัญในความพอดีที่มีอยู่หรือได้มานั้นต้องไม่เบียดเบียนตนเองและไม่ก้าวข้ามไปเบียดเบียนคนอื่น เป็นความพอดีที่ตั้งอยู่บนหลักของศีลธรรมและคุณธรรมเป็นสำคัญ

ประการที่สอง ความสมเหตุสมผล ประกอบไปด้วย

- ความสมเหตุสมผลในการจัดลำดับความสำคัญ เป็นการจัดลำดับความสำคัญในการตัดสินของทุกมิติทั้งเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ในประเด็นที่มองถึงความสมเหตุสมผลทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม โดยมีผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้ง

- ความสมเหตุสมผลในกระบวนการดำเนินการ เป็นการคำนึงถึงความเหมาะสมของวิธีการและขั้นตอนของการดำเนินการต้องโปร่งใส ไม่เอื้อผลประโยชน์ให้กับกลุ่มตนเองและพวกพ้อง ที่สำคัญต้องยึดหลักธรรมาภิบาล

- ความสมเหตุสมผลในด้านผลกระทบหรือต้นทุนทางสังคม เป็นการคำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อสังคมโดยรวม ตลอดจนสิ่งแวดล้อม โดยยึดหลักของความสมดุลและดุลยภาพโดยรวมของมนุษย์กับมนุษย์และมนุษย์กับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นที่ตั้ง

ประการที่สาม ความสมดุลของความสัมพันธ์ในมิติด้านต่าง ๆ คือ เป็นความสมดุลทางหลักความคิด ความสมดุลทางหลักการพูด ความสมดุลทางหลักการปฏิบัติ รวมถึงความสมดุลในมิติอื่น ๆ ซึ่งเมื่อความพอเพียงเป็นการไม่ไปเบียดเบียนตัวเองและคนอื่น รวมทั้งการไม่ไปเบียดเบียนธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วยแล้ว ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันและความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในลักษณะดังกล่าวเป็นความสัมพันธ์ในเชิงอุดหนุน ส่งเสริม เกื้อกูลซึ่งกันและกัน เป็นการดำเนินความสัมพันธ์ที่แสวงหาประโยชน์ส่วนรวม ไม่แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นเป้าหมายหลัก เพื่อนำไปสู่จุดสมดุลทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง แทนการนำไปสู่จุดวิกฤติ

ประการที่สี่ การสร้างภูมิคุ้มกัน คือ ความสามารถในการรองรับหรือรับมือกับสภาวการณ์ ความผันผวน และการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ได้เป็นอย่างดี เนื่องจาก ความพอเพียง ทำให้เกิดความสมดุลระหว่างมนุษย์กับมนุษย์และระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น จึงได้รับผลกระทบไม่มาก และสามารถกลับสู่จุดสมดุลและดุลยภาพใหม่ได้อย่างรวดเร็ว

การดำรงชีพแบบพอเพียงในทางพระพุทธศาสนามุ่งเน้นสอนให้เข้าถึงและเข้าใจในทางที่เจริญและทางเสื่อมไปในโภคทรัพย์ (โลกียทรัพย์) อย่างรู้เท่าทัน โดยมุ่งเน้นให้เดินตามหลักทางสายกลางที่ไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยสุรุ่ยสุร่ายแต่ก็มิได้ให้ถึงกับฝืดเคือง (ตระหนี่) มากนัก ซึ่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนให้รู้จักจัดสรรในทรัพย์ที่ได้มานั้นโดยการแบ่งออกเป็น ๔ ส่วน ซึ่งเรียกว่า “โภควิภาค ๔” ที่ประกอบไปด้วย

- เก็บไว้ใช้เลี้ยงตนและเลี้ยงคนที่ควรบำรุงเลี้ยงได้แก่ มารดา บิดา ภรรยา บุตรรวมถึงคนในปกครอง มิตรสหาย และใช้จ่ายทำประโยชน์หรือทำบุญ เป็นต้น (๑ส่วน)

- เก็บไว้ใช้ในการเป็นทุนประกอบอาชีพหน้าที่การงานเพื่อทำให้เกิดประโยชน์ที่งอกเงยเพิ่มขึ้นจากการใช้ไปในทรัพย์สินนั้น เมื่อมองในแง่ปัจจุบันซึ่งก็คือการลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น ลงทุนในธุรกิจ ลงทุนในพันธบัตร เป็นต้น (๒ ส่วน)

- เก็บไว้ใช้ในคราวจำเป็นเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้น เช่น เจ็บป่วย อุบัติเหตุ เป็นต้น (๑ ส่วน)

การดำรงชีพแบบพอเพียงตามแนวทางพระพุทธศาสนาสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับทุกคน ทุกองค์กรและทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เพราะเป็นหลักปฏิบัติที่สอดคล้องกับการทำประโยชน์ให้ถึงพร้อมในปัจจุบันด้วยความพอประมาณ สมเหตุสมผล สมดุล และเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเอง

“การดำรงชีวิตแบบพอเพียง เป็นวิถีการดำเนินชีวิตที่มุ่งเน้นความพอประมาณทำอะไรไม่เกินตัว กินพอดี อยู่พอดี ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นรวมทั้งไม่ก้าวล้ำไปเบียดเบียนธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ใช้หลักความสมเหตุสมผลในการจัดลำดับความสำคัญ วิธีการ รวมทั้งคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในมิติด้านต่าง ๆ ของการดำเนินชีวิต และเป็นการสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นทุกภาคส่วนของกิจกรรมทางสังคม รวมทั้งสามารถสร้างภูมิคุ้มกันเมื่อเผชิญกับวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเมือง สังคม เศรษฐกิจ รวมทั้งธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม”

ความพอเพียงหากจะแยกย่อยลงลึกไปในการทำมาหากินของการดำเนินชีวิตแล้วสามารถมองได้ใน ๒ มิติ คือ

- มิติพอเพียงอย่างวัตถุวิสัย เป็นลักษณะของความพอเพียงภายนอก คือ มีกินมีใช้ มีปัจจัยสี่เพียงพอ หรือที่คนส่วนใหญ่เข้าใจในความหมายที่ว่า พอสมควรตามอัตภาพ

- มิติพอเพียงอย่างจิตวิสัย เป็นลักษณะของความพอเพียงภายใน คือ เป็นความพอเพียงในด้านความรู้สึก ซึ่งแต่ละคนมีไม่เท่ากัน บางคนมีเงินไม่มากก็ถือว่าเพียงพอแล้วสำหรับเขา แต่ในขณะที่บางคนมีทรัพย์สินเงินทองมากมายแต่ก็ยังไม่เพียงพอสำหรับเขา

สิ่งสำคัญที่สุด ก็คือ เราต้องรู้จักบริหารจัดการระหว่างความพอเพียงอย่างวัตถุวิสัยและความพอเพียงอย่างจิตวิสัยให้เกิดดุลยภาพซึ่งกันและกัน เช่น สมมติ ว่าเรามีเงินเป็นร้อยล้านแล้วซื้อบ้านหลังละสิบล้าน ซื้อรถคันละห้าล้าน การกระทำเช่นนี้ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่ผิดตราบใดที่การได้มาและการใช้ไปของเงินเรานั้นไม่ได้ไปเดือดร้อนเบียดเบียนคนอื่นและไม่ทำให้เกิดทุกข์จากผลของการกระทำ ถือว่าเป็นการบริหารจัดการความพอเพียงอย่างจิตวิสัยและวัตถุวิสัยให้เกิดความสมดุล แต่ขณะเดียวกัน สมมติ เรามีเงินหนึ่งล้านแล้วทำแบบคนที่มีเงินเป็นร้อยล้าน สิ่งนี้เป็นการกระทำที่ไม่ดีเพราะทำให้เราเป็นทุกข์ (มีหนี้) ถือว่าเป็นการบริหารจัดการความพอเพียงอย่างจิตวิสัยและวัตถุวิสัยที่ไม่มีดุลยภาพ ดังนั้นถ้าไม่ทำให้เกิดทุกข์เราอาจจะซื้อบ้านหรือรถในราคาที่เหมาะกับรายได้และความจำเป็นกับตัวเองในลำดับแรกก่อน นี่เป็นเสมือนการใช้ปัญญาในการบริโภคนั่นเอง

..... อ่านต่อได้ที่: https://www.gotoknow.org/posts/468573

2 คำตอบ · +3 โหวต · 0 รายการโปรด · 2,680 อ่านแล้ว

ขอบคุณค่ะ

+2 โหวต · 0 ตอบกลับ

ยาวจังต้องเก็บไว้อ่านตอนมีเวลาจะได้พิจาณาไปด้วยทำให้เกิดปัญญา

ดีกว่ารีบอ่านเพื่อให้จบ ๆ ไป ขอบคุณที่หาสิ่งดี ๆ มาให้อ่านครับ

+1 โหวต · 0 ตอบกลับ

คำตอบของคุณ

(ไม่บังคับ)

เพื่อรับการแจ้งเตือนเมื่อมีการตอบกลับ

คำถามที่คุณอาจจะสนใจ