มาทำเครื่องคอมพิวเตอร์ของเราให้เป็น Web Server กันดีกว่า

จะดีมั้ยถ้าเราจะเอาเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนตัวของเราทำ Web Server ?

จริง ๆ แล้ว การที่เราจะมีเว็บไซต์เป็นของตัวเองนั้นมีหลายวีธีครับ เช่น

1. การสร้างเว็บขึ้นมาแล้วสมัครใช้พื้นที่ของ Free Hosting ซึ่งเราไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการใช้พื้นที่ แต่พื้นที่ที่ได้อาจจะน้อยไป หรือ ต้องแลกกับพื้นที่บางส่วนในหน้าเว็บของเราที่ทางเจ้าของ Host จะใช้เป็นพื้นที่ในการโฆษณาหรือบางที่อาจจะมี Pop up โผล่ขึ้นมาเวลาเราเปิดเว็บ (ข้อมูลเพิ่มเติม ใช้ คีย์เวิร์ด Free Hosting ค้นหาใน google ดูครับ)

2. สร้างเว็บขึ้นมาแล้วไปเช่าพื้นที่จากเว็บที่ให้บริการ Hosting ซึ่งกรณีนี้เราต้องจ่ายตังค์ให้เขา โดยราคาก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลาย ๆอย่าง ที่สำคัญก็คือขนาดของพื้นที่ที่เราต้องการ แน่นอนว่ายิ่งต้องการพื้นที่มาก ๆ ราคาก็ย่อมแพงตามไปด้วยครับ

แล้วถ้าหากเราสามารถทำให้เครื่องของเราเป็น Web Server ได้มันจะดีมั้ยนะ

1. ประการแรกดีแน่นอนเพราะไม่ต้องเสียตังค์ (หลายคนอาจจะเถียงว่าแล้วทำไมไม่ไปใช้บริการ Free Hosting ล่ะ มาดูข้อที่สองครับ)

2. การใช้เครื่องของเราเป็น Server เราจะได้พื้นที่มหาศาล เรียกว่ามีฮาร์ดิสก์เท่าไหร่ก็ใช้ได้เท่านั้นแหละครับ และที่สำคัญคือเราไม่ต้อง Upload เว็บที่เราสร้างขึ้นมาให้เสียเวลา ก็เพราะมันอยู่ในเครื่องของเราแล้วนั่นเอง

แล้ว Web Server ที่สร้างด้วยคอมของเราเองจะใช้ได้ดีแค่ไหน

1. เรื่องของประสิทธิภาพนั้นคงจะสู้ Server จริง ๆ ไม่ได้แน่นอนอยู่แล้วครับ

2. ความเร็วในการเรียกใช้งานก็ขึ้นอยู่กับระบบอินเตอร์เน็ตที่บ้านหรือทีทำงานของเรานั่นแหละครับ แต่เดี๋ยวนี้เราก็ใช้ ADSL กันเยอะครับ

3. Web Server ที่เราจะทดลองสร้างนี้ ไม่ได้หวังว่าจะให้คนทั่ว ๆ ไปเข้ามาใช้งานครับ เพียงแต่เป็นการใช้งานภายในกลุ่มเพื่อนฝูงหรือในหน่วยงานของเราเท่านั้นครับ

4. หากเราทำตรงนี้ได้ ซึ่งนอกเหนือจากการที่เรามี Web Server ให้ใช้งานหรือดาวน์โหลดข้อมูลแล้ว ต่อไปเราอาจประยุกต์ไปใช้งานอย่างอื่นได้อีกครับ เช่น การติดตั้ง Webcam ในบ้านหรือสำนักงานของเรา โดยเราสามารถเรียกดูผ่านอินเตอร์เน็ตได้จากทุกที่ (ดีมั้ย) หรือการสร้างสถานีวิทยุหรือโทรทัศน์ออนไลน์ ให้คนอื่นเข้ามาฟังเข้ามาชมได้ครับ (ตัวอย่างก็ที่เว็บปลาทองของเรานี่แหละครับ)

สรุปแล้วการทำเครื่องของเราให้เป็น Server นั้น ก็ไม่ได้มีอะไรเสียหายเลยครับและที่แน่แน่ผมว่าเราจะได้ทดลองทำอะไรที่มันแปลกใหม่และท้าทายดีครับ

แล้วเราต้องมีอะไรบ้างในเบื้องต้น

1. เครื่องคอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง ที่มีการจำลองเป็น Web Server ไว้แล้ว ตรงนี้สำคัญมากครับ ท่านต้องทำตรงนี้ให้ผ่านก่อนครับ

การทำให้เครื่องของเราเป็น Server นั้นสามารถทำได้หลายวิธีครับ

1.1 ติดตั้ง PWS สำหรับ windows 9x / me

1.2 ติดตั้ง IIS สำหรับ windows XP Pro./ 2000 /2003

1.3 สำหรับใครที่ต้องการใช้งาน PHP แนะนำให้ติดตั้ง Appserv วิธีติดตั้งคลิกที่นี่ โดยการทดลองของผมในครั้งนี้จะใช้ Appserv ครับ

2. การเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต แบบ ADSL หรือใครที่ใช้เน็ตของหน่วยงานก็ได้ครับ บางที่อาจใช้ สาย Leased Line

Web Server คืออะไร

Web Server คืออะไร ?

Web server คือโปรแกรมที่อยู่และทำงานบนเครื่องฝั่ง Server (Host) ทำหน้าที่ในการรับคำสั่งจากการร้องขอของฝั่ง Client (โดยผ่านทาง Browser) และประมวลผลการทำงานจากการร้องขอดังกล่าว แล้วส่งข้อมูลกลับไปยังเครื่องของ Client ที่ร้องขอ สรุปง่ายๆ ก็คือ Web server คือโปรแกรมที่คอยให้บริการแก่ Client ที่ร้องขอข้อมูลเข้ามาโดยผ่าน Web Browser เว็บที่เขียนด้วย Server Side Script ทั้งหลายนั้น จะทำงานได้ก็จะต้องมี Web server เป็นตัว Run และจะต้องมีตัวแปรภาษานั้นๆ อีกทีหนึ่ง ดังนั้นถ้าเราต้องการให้เครื่องของเราสามารถ Run CGI Script ต่างๆนั้น เช่น ASP, PHP, Perl เป็นต้น ได้เราจะต้องจำลองเครื่องคอมพิวเตอร์ของเราให้เป็น Web Server และลงตัวแปรภาษาที่เราต้องการเขียนนั้นเสียก่อน (ที่มา : http://www.thaiddns.com)

ดูภาพตัวอย่างครับ

(ที่มาภาพ http://www.visualbuilder.com)

เครื่องของเราเป็น Web Server หรือยัง?

ในตอนนี้เรายังไม่ต้องมีการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตก่อนก็ได้ แต่ให้แน่ใจว่าเครื่องของเราพร้อมที่จะให้บริการเป็น Web Server แล้วก็เพียงพอ

โดยให้ทำการเขียนเว็บขึ้นมา 1 หน้าแล้วทำการบันทึกไว้ในโฟลเดอร์ที่เก็บไฟล์ html ของ server ของเรา ตั้งชื่อว่า test.php ก็ได้ ในกรณีที่เราใช้ appserv ตามที่ได้กล่าวไว้ในข้างต้นนั้น เราสามารถเก็บไฟล์ html ของเราไว้ที่ C:/AppServ/www หรือดู ตัวอย่างเพิ่มเติมที่นี่ เลยครับ

ซึ่งหากใครยังไม่แน่ใจก็สามารถตรวจสอบได้ด้วยการ เปิดโปรแกรม Internet Explorer แล้ว พิมพ์ http://localhost/test.php ในช่อง Address ดูครับ ว่า Web Server ของเราแสดงผลหรือไม่ หากแสดงผลถูกต้องก็ไปอ่านหัวข้อต่อไปได้เลยครับ

ทำอย่างไรให้คนอื่นเรียกเข้ามาที่เครื่องเราได้

ในหัวข้อก่อนนี้เราสามารถทำให้เครื่องของเราสามารถบริการข้อมูลจาก Browser ที่ร้องขอข้อมูลมาได้แล้ว

แต่ก็เป็นเพียงการใช้งานเฉพาะเครื่องของเราแล้วเท่านั้น ซึ่งหากจะให้คนอื่นเข้ามาใช้งานเว็บของเราก็ต้องมีการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตด้วย เพราะฉะนั้นตั้งแต่ตอนนี้เป็นต้นไปให้เราต่อเน็ตด้วยครับ

การที่เครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องอื่นที่ใช้งานอินเตอร์เน็ตสามารถเรียกเข้ามายังเครื่องของเราได้นั้น เครื่องคอมพิวเตอร์นั้นจะต้องรู้หมายเลย IP Address ของเครื่องเราด้วยครับ โดย IP Address ที่ว่านี้จะต้องเป็น Public IP นะครับ ไม่ใช่ Private IP ที่เราได้จากระบบเครือข่าย

-----------------รู้จักคำว่า IP (ข้อมูลจากเว็บ http://www.thaiddns.com)---------------------

IP Address คืออะไร?

IP (Internet Protocal) Address คือ หมายเลขประจำเครื่องของเครื่องนั้นๆที่ออกสู่ Internet เปรียบได้กับ บ้านเลขที่ของคอมพิวเตอร์นั่นเอง ลักษณะของ IP Address จะประกอบไปด้วยตัวยตัวเลข 4 ชุด คั่นด้วย จุด เช่น 202.57.128.130 , 192.168.0.1 เป็นต้น

Public IP (Global IP) คืออะไร

คือ IP Address ที่ใช้กันอยู่บน Internet จริงๆ IP Address นี้จะไม่มีทางซ้ำกัน IP เหล่านี้จะได้มากจาก ISP ที่เรา connect เข้าไปใช้ Internet ของเค้านั่นเอง (แต่บาง ISP ก็ให้ Private มาเหมือนกันนะ) ตัวอย่าง Glogal IP ที่เห็นในไทยก็ 58.102.157.201, 202.57.128.129, 203.155.147.132 เป็นต้น โดย IP เหล่านี้เราสามารถเรียกดูที่ไหนก็ได้หากต่อ Internet แต่ Global IP นี้ส่วนใหญ่จะเปลี่ยนแปลงทุกครั้งที่มีการ Connect Internet ใหม่

Private IP (Local IP) คืออะไร

คือ IP Address ภายในองค์กร (หรือภายใน LAN) ในระบบ LAN เดียวกันไม่สามารถซ้ำกันได้ แต่หากอยู่คนละองค์กร (คนละวง LAN) สามารถเหมือนกันได้ แต่จะไม่สามารถเรียกดูผ่านระบบ Internet ได้เพราะเป็น IP ภายในนั่นเอง

--------------------------------------------------------------------------------------------

ทดลองให้เพื่อนเข้ามาดูเว็บเราดีกว่า

หลังจากที่เราติดตั้งคอมพิวเตอร์ของเราให้เป็น Web Server แล้ว ลองมาเรียกดูผ่าน Public IP ดีกว่าครับ

ก่อนอื่นต้องตรวจสอบดูว่าตอนนี้อินเตอร์เน็ตของเราได้ Public IP อะไรอยู่ วิธีการตรวจสอบก็คลิกที่นี่เลยครับ

http://checkip.dyndns.com/

สมมติว่าได้ IP Address จากการตรวจสอบดังนี้ 203.188.123.185 ก็ลองเรียกเว็บของเราดู ครับ โดยการพิมพ์

http://203.188.123.185/test.php

หลังจากนั้นลงส่งให้เพื่อนที่ใช้เน็ตอยู่อีกที่กับเราเรียกเข้ามาดูหน่อยว่าสามารถเข้าถึงเว็บของเราได้มั้ย

ซึ่งจริง ๆ แล้วนั้นหากเพื่อนเราอยู่ในวง Lan เดียวกันก็จะสามารถเข้าดูได้ครับ แต่หากมีการเรียกเข้ามาจากภายนอกจะยังไม่สามารถเข้าได้ก่อนนะครับเนื่องจาก Router ของโมเด็ม ADSL ที่เราใช้งานอยู่นั้น จะกันไม่ให้คนอื่นเข้ามาใช้งานในเครื่องของเรา พูดกันตามหลักการแบบบ้านบ้าน แล้วก็คือเราต้องทำการส่งต่อการร้องขอจากข้างนอก ที่มายัง Router มาที่เครื่อง ของเราด้วยครับ จึงจะทำให้คนอื่นเรียกมายังเว็บในเครื่องเราได้ครับ

การส่งต่อที่ว่านี้เรียกกันในทางเทคนิคว่า การ Forward Port ครับ

การ Forward Port นั้นจะมีความแตกต่างกันไปตามแต่ละรุ่นของโมเด็มครับ

ลงอเข้าไปศึกษาจากลิ้งค์ ต่าง ๆ ต่อไปนี้ครับ

http://www.thaiddns.com/webboard/messageReply.asp?tid=272

http://www.portforward.com/routers.htm ที่เว็บนี้มีครบทุกยี่ห้อทุกรุ่นเลยครับ

สมัครใช้งาน Dynamic DNS เพื่อให้คนอื่นเรียกเว็บเราได้ตลอด

ในความเป็นจริงแล้วหากเราเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตแบบ ADSL นั้นทุกครั้งเราจะได้ Public IP ที่แตกต่างกันครับเนื่องจาก จะมีการหมุนเวียน IP ไปให้คนอื่นใช้งานหลังจากที่เราเลิกการเชื่อมต่อแล้วนั่นเอง

เพราะฉะนั้นคงจะเป็นเรื่องยากที่ใครจะเข้ามาดูเว็บเราได้ตลอดเวลา เพราะหากเชื่อมต่อเน็ตใหม่ก็จะได้ IP Address ใหม่ด้วย แล้วใครจะรู้ IP Address ใหม่ของเราล่ะ ไอ้จะให้นั่งบอกคนอื่นทุกครั้งที่ IP เปลี่ยนก็คงจะทำไม่ได้ครับ แต่ไม่เป็นไรเพราะเดี๋ยวนี้มีระบบ Dynamic DNS ซึ่งระบบที่ว่านี้ เมื่อเราไปสมัครใช้งานก็จะได้ Domain name มา หนึ่งชื่อ ตัวอย่างเช่น http://plathong.mine.nu ซึ่งทุกครั้งที่เราเชื่อมต่อเน็ต ระบบ Dynamic DNS ก็จะทำการ Update IP Address ให้กับ Domain name ของเรา ซึ่งไม่ว่า IP จะเปลี่ยนไปอย่างไร หากเราเรียกไปยัง Domain name ของเราแล้วระบบก็จะนำไปยัง IP ที่ได้ update ไว้แล้วทุกครั้งนั่นเองครับ

มาสมัครใช้งาน Dynamic DNS กันดีกว่า

ระบบ Dynamic DNS เปิดให้ใช้งานฟรี ครับ

มีเว็บที่อยากแนะนำอยู่ 3 ที่ครับ

1. http://www.dyndns.com/ ของนอกใช้ได้ดีครับ

2. http://www.thaiddns.com ของไทยครับน่าใช้อีกเช่นเดียวกัน

3. http://www.no-ip.com/ ของนอกใช้กับ Linux ได้ด้วย

ลองสมัครดูที่ http://www.dyndns.com/

1. คลิกที่ http://www.dyndns.com/account/create.html แล้วกรอกข้อมูลให้ครบครับ

2. ระบบจะส่งลิ้งค์มาให้เรา Activate ทางเมล์ที่เรากรอกใว้

3. หลังจาก Activate Account แล้วให้ Login เข้าใช้งาน และคลิกที่ My Services

4. จากนั้นคลิกที่ Add Host Services (อยู่ทางด้านซ้ายมือ)

5. คลิกที่ Add Dynamic DNS Host

6. ในช่อง Hostname ใส่ชื่อ Sub Domain ที่เราต้องการ เช่น plathong ส่วนช่องด้านหลังให้เราเลือก อะไรก็ได้ครับ เช่น mine.nu

7.ช่อง IP Address ระบบจะใส่ให้เอง

8. คลิกถูกที่ Enable Wildcard

9. คลิกปุ่ม Add Host

ระบบจะแจ้งให้ทราบว่าตอนนี้ Sub Domain คืออะไร ตัวอย่าง

---------------------------------------------

Hostname: plathong.mine.nu

IP Address: 203.182.261.89

Wildcard: Y

Mail Exchanger: None

Backup MX: N

---------------------------------------------

หมายถึงเมื่อมีการเรียกมาที่ plathong.mine.nu ระบบจะ Redirect มายัง IP 203.182.261.89 ซึ่งก็คือเครื่องเรานั่นเองครับ

แต่ตอนนี้ยังไม่พอครับ

เราต้องดาวน์โหลดโปรแกรม สำหรับ Update IP อัตโนมัติ มาติดตั้งไว้ในเครื่องเราด้วยครับ

โดยตัวโปรแกรมนี้จะเปลี่ยนค่า IP ให้เราทุกครั้งที่เชื่อต่ออินเตอร์เน็ตนั่นเอง คลิกเพื่อดาวน์โหลดที่นี่ ครับ

เมื่อดาวน์โหลดมาแล้วให้ทำการติดตั้ง และเข้าใช้งานโดยใส่ Username และ Password ที่สมัครไว้หลังจากนั่นก็เพิ่ม Host ที่เราได้ Add ไว้ ในเว็บ www.dyndns.com

และต่อไปทุกครั้งที่เราเปิดเครื่องโปรแกรมก็จะ Update IP ให้เราอัตโนมัติ

1 คำตอบ · +2 โหวต · 0 รายการโปรด · 3,053 อ่านแล้ว

มีประโยชน์ดี ใจมากจ้า

+1 โหวต · 0 ตอบกลับ

คำตอบของคุณ

(ไม่บังคับ)

เพื่อรับการแจ้งเตือนเมื่อมีการตอบกลับ

คำถามที่คุณอาจจะสนใจ

คำถามในป้ายกำกับ
ถามคำถาม