โรคชอบด่า

อินเตอร์เน็ตก่อให้เกิด ‘โรคชอบด่า’ จริงหรือ?

.

ในเน็ตนี้ ตรงไหนมีที่ให้คุย

ตรงนั้นเจอคำด่าทอได้หมด

และมักเป็นไปในแบบเสียดแทงใจไม่ออมมารยาท

คิดอย่างไรพูดอย่างนั้น

.

ถ้าคุณไม่ใช่คนชอบด่ากราด

ยังคงนิสัยไม่ชอบทำร้ายจิตใจใคร

สิ่งหนึ่งที่คุณจะมองเห็น คือ

คนในเน็ตเป็นโรคทางใจกันมาก

เหมือนหลายคนติดอาการชอบด่าราวกับเป็นโรคระบาด

เช่น ไม่จำเป็นต้องด่าก็ด่า

รู้จริงไม่รู้จริงด่าไว้ก่อน

ดีก็ด่า ชั่วก็ด่า

อาจจะเพราะด่าเพื่อระบายความเก็บกด

อาจจะด่าคนอื่นเพื่อให้ตัวเองดูดี

อาจจะด่าแล้วดูกลมกลืนกับบรรยากาศ

อาจจะด่าแล้วรู้สึกคึกคักเหมือนคนเมาร่วมกัน

สรุปง่ายๆว่า ทุกคนคุ้นแล้ว ชาชินแล้ว

คำด่ากลายเป็นของเจอะเจอประจำวันกันไปทั้งโลกแล้ว

.

กรรมใดสั่งสมไว้จนชิน

กรรมนั้นพระพุทธเจ้าตรัสถึงความแน่นอนที่จะให้ผล

ถ้าเคยชินในทางดี ก็เหมือนมีประกันว่าจะเป็นผู้ไปสู่สุคติ

ถ้าชาชินในทางร้าย ก็เหมือนกำตั๋วไปสู่ทุคติไว้แน่นเหนียว

.

อินเตอร์เน็ตไม่ได้เป็นแหล่งกำเนิดของโรคชอบด่า

ข้อเท็จจริงก็คือ การด่าทอกันนั้น

ทุกคนแอบคิดกันบ่อยๆอยู่แล้ว

ใครจะถี่กว่ากัน ใครจะเข้มข้นกว่ากัน

ใครจะมโนไปในทางประทุษร้ายจริงจังกว่ากัน

ก็ขึ้นอยู่กับทุนทางกุศลหรืออกุศล

อันเป็นฐานจิตฐานใจของแต่ละคน

.

แต่มายุคไอทีนี้ต่างไป

ตรงที่มีอินเตอร์เน็ตเป็นช่องทางระบายความคิด

แม้อินเตอร์เน็ตไม่ใช่ ‘บ่อเกิด’ โรคชอบด่า

แต่อินเตอร์เน็ตก็เป็น ‘แหล่งขยายพันธุ์’

ตลอดจนเป็น ‘พาหะกระจายโรคระบาด’ จริงๆ

เนื่องจากการมี ‘พื้นที่ส่วนตัว’

ตลอดจนการมีวิธีพูดคุยแบบไม่ต้องเห็นหน้าและรู้จักตัว

จึงกระตุ้นให้กล้าพูดอย่างที่คิด

หรือรับความคิดมาแพร่ต่อได้อย่างเป็นอิสระ

โดยนึกว่าไม่มีใครรู้ว่าเราพูด

หรือกระทั่งนึกว่าไม่ใช้ปากพูดใส่หูคน ก็ไม่น่าจะเป็นกรรม

.

กรรมนั้นเริ่มด้วยใจเล็งไว้ว่าจะเกื้อกูลหรือประทุษร้าย

ต่อยอดด้วยการ ‘คิดเลือกคำ’ หรือ ‘คิดเลือกประโยค’

จบลงด้วยการ ‘พูดอย่างที่คิด’ หรือ ‘เขียนอย่างที่ตั้งใจ’

ผลที่เกิดขึ้นทางจิต เป็นพยานหลักฐานอย่างดีว่า

กรรมเริ่มให้ผลควบคุมทิศทางและความเป็นไปของชีวิตอย่างไร

.

ด่ามาก จิตใจมืดหม่นมาก

ด่าน้อย จิตใจหม่นหมองน้อย

ติเพื่อก่อแบบรักษาน้ำใจ จิตใจมีสติและคิดเป็นระบบ

ติเพื่อเติมเต็มให้สมบูรณ์ จิตใจเต็มอิ่มกับการช่วยเหลือ

.

ใจเล็งอย่างไร กรรมเกิดขึ้นอย่างนั้น

ชีวิต จิตวิญญาณ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต สอดคล้องตามนั้น

.

.

ดังตฤณ

มิถุนายน ๕๗

.

.

ที่มา : นิตยสาร ธรรมะใกล้ตัวฉบับ Lite ฉบับวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๕๗

6 คำตอบ · +4 โหวต · 1 รายการโปรด · 19 อ่านแล้ว

เห็นด้วยนะ และก็เป็นที่นินทา ให้ร้ายคนอื่นได้ดีที่เดียว รวดเร็วด้วย

และบางคนชีวิตจริงไม่กล้าแสดงความเห็น

หรือคิดว่าในเน็ตไม่มีคนมาเอาความได้ สนุกปาก ที่ได้ทับถม

เกดเคยนะว่า เพราะเราคิดจะว่าจริงๆ ปกติไม่ด่า แต่จะใช้คำพูดแรงๆ เวลาไม่ชอบความคิดอะไร

พอตอนมีสติ กลับมาอ่าน แม้ตอนนั้น สะใจ แต่พอคิดดีดี เรามีสิทธิ์อะไรไปตัดสิน เค้าเสียแล้ว

ก็อยากให้คนเรามีจิตสำนึกของการแบ่งปัน ให้อภัยกัน เชื่อว่าไม่น้อยยที่ยังหลงในวังวนและแบกรับการด่า เอามาเจ็บใจจากโลกอินเตอร์เน็ต

จริงๆปิดปุ่ม off or log out ก็จบ ตัดปัญหา

+3 โหวต · 0 ตอบกลับ

โห....มาซะยาววววววววววววววววววววววววววววววววววววววเลย...

+4 โหวต · 0 ตอบกลับ

ยาวมาก แต่อ่านแล้วมีประโยชน์มากจริงๆครับ ช่วยอ่านกันหน่อยเถอะนะ แหะๆ

+2 โหวต · 1 ตอบกลับ

ขอบคุณพี่พัน

ไม่ชอบด่า ไม่ชอบทะเลาะ อ่านอย่างเดียวดีกว่า อิอิ

+2 โหวต · 0 ตอบกลับ

ทุกอย่างมากพื้นฐานของเขา บัวใต้น้ำยังไงก็ดึงไม่ขึ้น

+2 โหวต · 0 ตอบกลับ

รู้สึกว่ายุคนี้ คนเรียนรู้ เลียนแบบในสิ่งที่แย่ๆง่ายขึ้นจากในเน็ต พอๆกับสามารถ

ศึกษาสิ่งที่มีปย.ซึ่งอาจนำมาปรับปรุงวิธีคิด วิธีทำต่างๆได้ด้วยเช่นกัน ไปต่อล้อต่อ

เถียงด้วยก็เสียเวลาและอารมณ์ มันจะมีคนประเภทว่างมากแล้วชอบยุ่งเรื่องคนอื่น

ทั้งในชีวิตจริงและในเน็ต เสรีภาพก็ควรมีขอบเขต มาก้าวก่ายชีวิตคนอื่นมากจัด

คงไม่เรียกได้ว่าสิทธิแล้ว เพราะมาละเมิดสิทธิของคนอื่นมากเกินไป

+2 โหวต · 0 ตอบกลับ

คำตอบของคุณ

(ไม่บังคับ)

เพื่อรับการแจ้งเตือนเมื่อมีการตอบกลับ